SACICT ระดมกูรูรอบทิศทาง ชี้ 4 เทรนด์ เพิ่มมูลค่าให้กับงานหัตถศิลป์ไทย ปี 2562 ผ่านเวทีเสวนา Craft Innovation Guru Panel “Today Life’s Craft”

SACICT ระดมกูรูรอบทิศทาง ชี้ 4 เทรนด์ เพิ่มมูลค่าให้กับงานหัตถศิลป์ไทย ปี 2562

ผ่านเวทีเสวนา Craft Innovation Guru Panel “Today Life’s Craft”

 

SACICT ( The Support Arts and Crafts International  Centre of Thailand ) หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรมเสวนาหัวข้อ Craft Innovation Guru Panel “Today Life’s Craft” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนแนวความคิด เพื่อค้นหาแนวโน้มและทิศทางของเทรนด์หัตถกรรมร่วมสมัย และภาพรวม งานศิลปหัตถกรรมไทย สู่การเพิ่มมูลค่าให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทยในปี 2562 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561       ณ ช่างชุ่ย กรุงเทพฯ

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า งานเสวนา Craft Innovation Guru Panel “Today Life’s Craft” ที่จัดขึ้นครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่กลุ่มนักสร้างสรรค์ทุกกลุ่ม ทุกวัย รอคอยและติดตามเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวความคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งทิศทางของเทรนด์หัตถกรรมร่วมสมัยทั้งในด้านการผลิต ที่จะช่วย      ให้ผู้ประกอบการ หรือบุคคลที่สนใจได้เข้าร่วมรับฟังต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้น

ในโอกาสนี้ SACICT ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในวงการหัตถศิลป์ไทยมากมาย นำโดยคุณอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ คุณแสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ และคุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ คุณดุลยพล ศรีจันทร์ คุณศรัณย์ เย็นปัญญา คุณวุฒิชัย หาญพาณิชย์ คุณพิษณุ นำศิริโยธิน คุณธนพัฒน์ บุญสนาน คุณวิสุทธิ์ ลิ้มอารีย์ คุณสมชัย ส่งวัฒนา และคุณกิตติภัต ลลิตโรจน์วงศ์

สำหรับหัวข้อการเสวนาในปีนี้มี 4 เทรนด์ ประกอบไปด้วย

  • Tropical Dream ด้วยความเป็นไปของโลกในปัจจุบันที่ทุกอย่างหมุนไปอย่างรวดเร็วตามกระแสของเทคโนโลยี การหลบหนีความวุ่นวายและหาโอกาสพาตัวเองไปอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ จึงเป็นเสมือนค่านิยมสะท้อนถึงการมีคุณภาพที่ดีของคนรุ่นใหม่ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ในความเป็นจริงที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงต้องมีวิถีชีวิตภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ จึงทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามที่ใจปรารถนา จึงเกิดเป็นแนวโน้มการนำความเป็นธรรมชาติให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันด้วยการจำลองบรรยากาศความเขียวไว้ในบ้านหรือที่ทำงานรวมถึงการสร้างสรรค์กิจกรรมในรูปแบบต่างๆ จึงสะท้อนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยเติมความสดชื่นให้กับจิตวิญญาณของคนเมืองแม้ว่าจะเป็นสัมผัสจากธรรมชาติในรูปแบบเสมือนก็ตาม
  • Retelling the details ที่เป็นการตอกย้ำถึงคุณค่าผลิตภัณฑ์อีกครั้ง นำเสนอเรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นลงถึงในรายละเอียดซึ่งมีอยู่ในขั้นตอนต่างๆ ที่กว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการในฐานะผู้นำเสนอผลิตภัณฑ์นั้นต่อกลุ่มลูกค้าที่ตอกย้ำความสำคัญและต้องให้ลูกค้าทราบเข้าถึงความใส่ใจหรือความเชี่ยวชาญ ที่มีอยู่ เพื่อให้ส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าของสินค้าในสายตาผู้บริโภค ทั้งนี้อาจนำเสนอได้ทั้ง การเล่าประวัติศาสตร์ของแบรนด์ ประวัติศาสตร์ของผลิตภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ของชุมชน การเฉลิมฉลองวาระครบรอบ การรีดีไซน์ผลิตภัณฑ์เดิม การต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิมให้มีเรื่องราวเพิ่มขึ้น การเล่าเรื่องเดิมในบริบทใหม่ รวมไปถึงการออกแบบใหม่จากดีไซน์เดิมด้วยรายละเอียดที่ใส่ใจมากขึ้น เป็นต้น
  • เทรนด์ Hospit (re) ality สำหรับคนยุคนี้ โรงแรมคือพื้นที่สำหรับการหลบหนีความวุ่นวาย เพื่อปรนเปรอจิตวิญญาณด้วยจินตนาการเหนือจริง เป็นโลกอีกใบที่พาเราออกจากบรรยากาศเดิมๆ ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง ไปจนถึงงานออกแบบสเปซเพื่อการพักผ่อนและอุตสาหกรรมบริการ จึงต้องมีความโดดเด่นแปลกใหม่ และนี่คือโอกาสที่งานคราฟต์พื้นถิ่นสุดวิจิตรจะได้รับการประยุกต์ให้ร่วมสมัยเพื่อพลิกมุมมอง และสร้างบรรยากาศหวือหวา แฟนตาซีให้กับสเปซแห่งโลกเสมือนนี้
  • Virtuous เป็นเทรนด์ที่มาจากงานแฟร์ระดับโลก อย่างงาน Maison & Objet 2018 ที่พูดเรื่องการออกแบบและการซื้อขายจะเปลี่ยนไป การผลิตผลงานแต่ละชิ้นมีปัจจัยเชื่อมโยงในการออกแบบ คิดถึงการใช้งานเป็นหลัก ความรู้สึกผิดต่อวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยม ไม่ใช้วัสดุแบบทิ้งขว้าง จึงเกิดกฎเกณฑ์ใหม่ จริยธรรมใหม่ ในการเลือกซื้อสินค้า ซื้ออย่างถูกจริยธรรม ไม่ใช่แค่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือช่วยสร้างงานในกลุ่มชุมชนที่ด้อยกว่า แต่เป็นการคำนึงถึงองค์รวม เป็นการกระจายรายได้กลับสู่ชุมชน ผลงานที่ออกมา ดีไซน์เนอร์จึงใช้เรื่องราวและที่มาของสินค้าชิ้นนั้นๆ เป็นพระเอกชูโรง แม้จะเป็นงานคราฟต์แบบเดียวกัน หน้าตาเหมือนกัน ผู้ซื้อจะเลือกชิ้นที่มีจริยธรรมและมีจรรยาบรรณในการทำงาน และมีความเฉพาะตัวเป็นต้น

“งานนี้ถือว่าเป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานหัตถศิลป์ทั้งในส่วนการผลิต วัตถุดิบ การออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และนักวิชาการที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวโน้มและทิศทางของเทรนด์หัตถกรรมร่วมสมัย และภาพรวมงานศิลปหัตถกรรมไทย ทั้งในด้านการผลิต การออกแบบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการนำเสนอผลงานหัตถกรรมและหัตถศิลป์ของไทยในปี 2562 ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ หรือบุคคลที่สนใจได้เข้าร่วมรับฟัง เกิดผลต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีศักยภาพต่อไป”  นางอัมพวันฯ กล่าว

 

 

%d bloggers like this: