พลิกโฉมพิพิธภัณฑ์ไทย! มิวเซียมสยาม
พลิกโฉมพิพิธภัณฑ์ไทย! มิวเซียมสยาม ตั้งเป้าไทยสู่ท็อป “Museum Destination”
ในอาเซียน รุกจับมือภาครัฐ-เอกชน ดันโครงการพัฒนาเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้
มิวเซียมสยาม เดินหน้าพันธกิจส่งเสริมสังคมไทยให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ มุ่งยกระดับขีดความสามารถ และมาตรฐานของพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยในแง่ของการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างสรรค์และทันสมัย รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นเป็นที่จดจำ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นท็อป“Museum Destination” ในอาเซียน อันจะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการสร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยล่าสุดได้จับมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเครือข่าย “พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้” ที่มุ่งพัฒนาหน่วยงานเครือข่ายที่มีความพร้อมไปสู่รูปแบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Discovery Museum Knowledge) ผ่านโมเดลการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ 9 ด้าน
อาทิ การวางแผนพิพิธภัณฑ์ (Museum Planning) การจัดการวัตถุพิพิธภัณฑ์ (Museum Collection) การตลาดในพิพิธภัณฑ์ (Museum Marketing) โดยในปี 2560 มิวเซียมสยามได้ร่วมมือพัฒนาพิพิธภัณฑ์ตามมาตรฐานดังกล่าวจำนวน 4 แห่ง อันประกอบไปด้วย“พิพิธภัณฑ์ปัญญานันทภิกขุ จ.นนทุบรี” พิพิธภัณฑ์เชิงศาสนาและวัฒนธรรม “พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ จ.พิจิตร” ศูนย์การเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ “ศูนย์การเรียนรู้ การยางแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ” พิพิธภัณฑ์เชิงนวัตกรรมและธุรกิจ และ “ศูนย์การเรียนรู้ฟิช วิลเลจ จ.ราชบุรี” ศูนย์การเรียนรู้เชิงนิเวศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมามิวเซียมสยามได้พัฒนาบุคลากรด้านพิพิธภัณฑ์กว่า 558 แห่งทั่วประเทศ
ล่าสุด มิวเซียมสยาม ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ร่วมกับทั้ง 4 หน่วยงานไปเมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคารนิทรรศการ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ สำหรับหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของมิวเซียมสยาม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 ต่อ 433 หรือwww.facebook.com/museumsiamfan
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า ในปี 2560 มิวเซียมสยาม ในฐานะองค์การจัดการความรู้ขนาดใหญ่ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริมสังคมไทยให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นท็อป “Museum Destination” ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเครือข่าย “พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้” เพื่อยกระดับและขีดความสามารถ และมาตรฐานของพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยในแง่ของการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างสรรค์และทันสมัย รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นเป็นที่จดจำตามมาตรฐานสากล
สำหรับโครงการดังกล่าวจะดำเนินการยกระดับพิพิธภัณฑ์ ผ่านโมเดลการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (DiscoveryMuseum Knowledge Model)” รวม 9 ด้าน อันประกอบไปด้วย การวางแผนพิพิธภัณฑ์ (Museum Planning) การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ (Museum Management) การจัดการวัตถุพิพิธภัณฑ์ (Museum Collection) การอนุรักษ์วัตถุพิพิธภัณฑ์ (Museum Conservation) การจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ (Museum Exhibition) การจัดทำโปรแกรมการเรียนรู้และกิจกรรมสร้างสรรค์ในพิพิธภัณฑ์ (Museum Program) การตลาดในพิพิธภัณฑ์ (Museum Marketing) การบริการผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ (Museum Services) การบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในพิพิธภัณฑ์ (Museum Facility)
ทั้งนี้ในปี 2560 มิวเซียมสยามได้เตรียมพัฒนาเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ถึง 4 แห่ง โดยได้ร่วมกับ 1) วัดชลประทานรังสฤษดิ์ (พระอารามหลวง) จ.นนทบุรี เพื่อพัฒนา “พิพิธภัณฑ์ปัญญานันทภิกขุ จ.นนทุบรี” ให้เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เชิงศาสนาและวัฒนธรรม 2) องค์การบริหารส่วนตำบลป่ามะคาบ จ.พิจิตร เพื่อพัฒนา “พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ จ.พิจิตร” ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ 3) การยางแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ เพื่อพัฒนา “ศูนย์การเรียนรู้ การยางแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ” ให้เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เชิงนวัตกรรมและธุรกิจ และ 4) บริษัท ศรีบ้านโป่ง มาร์เก็ต จำกัด จ.ราชบุรี เพื่อพัฒนา “ศูนย์การเรียนรู้ฟิช วิลเลจ จ.ราชบุรี”
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามิวเซียมสยามได้ร่วมมือกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศในการจัดเสวนาฝึกอบรมบุคลากรพิพิธภัณฑ์ให้มีความรู้ และทักษะที่สำคัญในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้อย่างมีศักยภาพไปแล้วถึง 1,257 คน จากพิพิธภัณฑ์ 558 แห่ง ตลอดจนมีการพัฒนาหน่วยงานเครือข่ายที่มีความพร้อมสู่การเป็น “ต้นแบบพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้” ซึ่งเริ่มดำเนินการขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2554 โดยสำเร็จไปแล้ว 5 แห่ง อาทิ พิพิธภัณฑ์แมลงสยาม จ.เชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว จ.ภูเก็ต พิพิธภัณฑ์ซับจำปา
จ.ลพบุรี พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จ.พิษณุโลก และพิพิธภัณฑ์บางกอกดอลล์ กรุงเทพฯ ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้กว่า 5,000 แห่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค หากทุกภาคส่วนช่วยกันดึงศักยภาพของพิพิธภัณฑ์ไทยออกมาพัฒนาต่อยอดให้เป็นมาตรฐานสากล อันจะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการสร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับประเทศอย่างมีนัยสำคัญ นายราเมศ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายสมพร เล็กอุทัยพานิช ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลป่ามะคาบ จ.พิจิตร กล่าวว่า สืบเนื่องจากการที่องค์การบริหารส่วนตำบลป่ามะคาบ ได้ร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ ฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในการพิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยกับชาวเวียดนามที่อยู่ร่วมพึ่งพาอาศัยกันมาตั้งแต่อดีต โดยมีการกำหนดให้มีการจัดแสดงเอกสารสิ่งพิมพ์ วัตถุสิ่งของสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประธานโฮจิมินห์เป็นส่วนหนึ่งของการจัดนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ฯ อย่างไรก็ตาม อบต.ป่ามะคาบยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ที่ดี โดยมุ่งหวังว่าการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในครั้งนี้ มิวเซียมสยามจะช่วยพัฒนาและยกระดับพิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ ไปสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ที่มีความสมบูรณ์ เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ตลอดจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวชาวเวียดนามและอาเซียนอย่างภาคภูมิใจ
ทั้งนี้ มิวเซียมสยาม ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ร่วมกับทั้ง 4 หน่วยงานไปเมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคารนิทรรศการ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ สำหรับหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของมิวเซียมสยาม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 ต่อ 433 หรือwww.facebook.com/museumsiamfan
รายละเอียดโมเดลการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Discovery Museum Knowledge Model) 9 ด้าน มีดังต่อไปนี้
- การวางแผนพิพิธภัณฑ์ (Museum Planning): มุ่งพัฒนาให้บุคลากรพิพิธภัณฑ์เลือกสิ่งที่จะดำเนินการหรือ
แนวทางการปฏิบัติในอนาคตได้อย่างถูกต้อง เกิดผลสำเร็จและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งการวางแผนที่ดีจะช่วยในการกำหนดกรอบความคิดและการดำเนินงานให้อยู่ในขอบเขตและภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน - การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ (Museum Management): มุ่งพัฒนาให้บุคลากรพิพิธภัณฑ์มีความรู้ความเข้าใจและทักษะในการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ ตลอดจนสามารถกำหนดทิศทางการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพ และมีแนวทางการปฏิบัติงานพิพิธภัณฑ์ในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร งบประมาณ สถานที่ กลุ่มเป้าหมาย กิจกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ให้บริการความรู้และความเพลิดเพลินอย่างยั่งยืน
- การจัดการวัตถุพิพิธภัณฑ์ (Museum Collection): มุ่งพัฒนาให้บุคลากรพิพิธภัณฑ์มีความรู้ความเข้าใจและทักษะในการรวบรวมและจัดเก็บวัตถุพิพิธภัณฑ์ กระบวนการบริหารจัดการคลังวัตถุพิพิธภัณฑ์ และการใช้เทคโนโลยีกับวัตถุพิพิธภัณฑ์เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชน
- การอนุรักษ์วัตถุพิพิธภัณฑ์ (Museum Conservation): มุ่งพัฒนาบุคลากรพิพิธภัณฑ์ให้มีความรู้ความเข้าใจและทักษะเรื่องการอนุรักษ์วัตถุพิพิธภัณฑ์ โดยชี้ให้เห็นถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการไม่อนุรักษ์หรืออนุรักษ์วัตถุพิพิธภัณฑ์อย่างผิดวิธี การอนุรักษ์เชิงป้องกัน ตลอดจนการอนุรักษ์วัตถุพิพิธภัณฑ์อย่างไรให้สอดคล้องกับสภาพของพิพิธภัณฑ์ทั้งงบประมาณ องค์ความรู้ และความสามารถของบุคลากร
- การจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ (Museum Exhibition): มุ่งพัฒนาบุคลากรพิพิธภัณฑ์ให้มีความรู้เข้าใจบทบาทของการจัดแสดงนิทรรศการในฐานะที่เป็นเครื่องมือสื่อสารทางกายภาพของพิพิธภัณฑ์ องค์ประกอบสำคัญของนิทรรศการ ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงในการจัดแสดง หลักการพื้นฐานและขั้นตอนการจัดแสดง วิธีประยุกต์ใช้ในบริบทที่แตกต่างกัน ตลอดจนการฝึกวางแผน ลงมือทำ พัฒนา รวมทั้งประเมินผลการจัดแสดงนิทรรศการ
- การจัดทำโปรแกรมการเรียนรู้และกิจกรรมสร้างสรรค์ในพิพิธภัณฑ์ (Museum Program): มุ่งพัฒนาบุคลากรพิพิธภัณฑ์ให้มีความรู้ความเข้าใจ และฝึกเปลี่ยนมุมมองพิพิธภัณฑ์ให้เป็นที่ตระเตรียมสภาพแวดล้อมและกิจกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์ โดยประสบการณ์ใหม่ที่ได้นั้นจะนำไปสู่การเรียนรู้ต่อไป
- การตลาดในพิพิธภัณฑ์ (Museum Marketing): มุ่งพัฒนาให้บุคลากรพิพิธภัณฑ์มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถวิเคราะห์ผู้เข้าชมที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความคุ้มค่าให้กับผู้เช้าชม
- การบริการผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ (Museum Services): มุ่งพัฒนาให้บุคลากรพิพิธภัณฑ์ให้มีความรู้ความเข้าใจ
ในบทบาทหน้าที่ของการให้บริการ การให้บริการในรูปแบบต่างๆ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ รวมถึงการประเมินผลคุณภาพการให้บริการ - การบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในพิพิธภัณฑ์ (Museum Facility): มุ่งพัฒนาให้บุคลากรพิพิธภัณฑ์มีความรู้ความเข้าใจและสามารถวิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกในพิพิธภัณฑ์ในลักษณะของการเตรียมพร้อม และหรือปรับปรุงพื้นที่ในพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่ผู้เข้าชม และสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ด้วย