TCDC ปลุกตำนาน “เจริญกรุง”

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ปลุกตำนาน “เจริญกรุง”
ก่อนพลิกโฉมสู่ย่านสร้างสรรค์แห่งแรกของไทย พร้อมโชว์ 4 แลนด์มาร์คที่คนไทยต้องรู้

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เปิดประวัติศาสตร์ “” ย่านประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย จุดเริ่มต้นของ ด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม พร้อมโชว์ 4 สถานที่สำคัญที่เป็น “สถานที่แรก” ในประเทศไทย ได้แก่ “สถานกงสุลโปรตุเกส” สถานกงสุลแห่งแรกของประเทศไทย, “ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย” ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย, “โรงแรมโอเรียนเต็ล” โรงแรมแห่งแรกของประเทศไทย, “มิสยิดบ้านอู่” มัสยิดจดทะเบียนหลังแรกของไทย โดยสถานที่ต่างๆ ล้วนตอกย้ำความสำคัญในด้านศูนย์รวมความเจริญในอดีตของย่านเจริญกรุง และเร็วๆ นี้ “เจริญกรุง” กำลังจะกลายเป็นย่านสร้างสรรค์อย่างสมบูรณ์แบบแห่งแรกของประเทศไทย ที่เต็มไปด้วยศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์ถ่ายทอดผ่านตึกรามบ้านช่อง โรงแรม ร้านอาหาร แกลอรี่ และองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระตุ้นทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของทางภาครัฐบาลแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังการใช้ความคิดสร้างสรรค์และศิลปะเพื่อสร้างประโยชน์ทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจได้ต่อไป

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า เจริญกรุง ถือเป็นย่านที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศไทยในอดีต ซึ่งถนนเจริญกรุงถือได้ว่าเป็นถนนคอนกรีตสายแรกของประเทศไทยที่ถูกสร้างแบบตะวันตก โดยสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถูกสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2407 ซึ่งเมื่อประกอบกับการเป็นพื้นที่ที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีความสะดวกทางคมนาคม และนำมาสู่ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เจริญกรุงจึงกลายเป็นศูนย์รวมความเจริญในสมัยดังกล่าว เต็มไปด้วยสิ่งที่ทันสมัยที่สุดในช่วงเวลานั้น ตั้งแต่ โรงแรม ธนาคาร รถราง โทรคมนาคม ตลอดจนการค้าและความสัมพันธ์กับนานาชาติ

สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส
สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส

นายอภิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยเหตุนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้เล็งเห็นความสำคัญของถนนเจริญกรุง และได้เดินหน้าพัฒนาย่านเจริญกรุง ให้กลายเป็น “ย่านสร้างสรรค์” (Creative District) เพื่อมุ่งสร้างตัวอย่างความสำเร็จของย่านสร้างสรรค์ในประเทศไทยตามแบบฉบับของการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ในนานาประเทศ อาทิ ย่านนิชิจิน ในประเทศญี่ปุ่น ย่านบริคเลนและเมืองเบอร์มิงแฮมในประเทศอังกฤษ ฯลฯ โดยย่านสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จจะสามารถพัฒนาทั้งเรื่องคุณภาพชีวิต ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างความเป็นตัวตนและเรื่องราวอันเป็นเอกลักษณ์ของย่าน ซึ่งสำหรับในกรณีย่านเจริญกรุงนั้น มีความโดดเด่นในการเป็นศูนย์รวมความเจริญในอดีตอยู่แล้ว ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ จึงได้รวบรวมสถานที่ประวัติศาสตร์ ที่เป็น “สถานที่แรก” ในประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในย่านเจริญกรุง ดังนี้

สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส (1)
สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส

สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส (5)
สถานกงสุลแห่งแรก: สถานกงสุลโปรตุเกส หรือสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งมีชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาของประเทศไทยมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงพระราชทานที่ดินในตรอกกัปตันบุชให้แก่พระราชินีมาเรีย แห่งโปรตุเกส เพื่อสร้างเป็นที่พำนักสำหรับกงสุลโปรตุเกสสมัยนั้น สำหรับเป็นศูนย์กลางให้แก่ชาวโปรตุเกสในประเทศไทย โดยตัวอาคารมีการก่อสร้างอย่างงดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ภายในเป็นพื้นไม้ไผ่ฉาบตามแบบฉบับของการสร้างที่อยู่อาศัยของชาวโปรตุเกส ทั้งนี้ อาคารหลังนี้ได้มีการปรุงปรุงและต่อเติมเรื่อยมาเพื่อการใช้งาน และรักษาสภาพอาคารหลังเดิมไว้ให้ใกล้เคียงที่สุด

ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย

ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย (4)
ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย: ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย เป็นสถาบันการเงินหรือธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย เริ่มก่อตั้งขึ้นในนาม “บุคคลัภย์” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อให้สถาบันการเงินเป็นฐานรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีกลายเป็นต้นแบบธนาคารพาณิชย์ของไทย โดยมีการปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท แบงก์สยาม กัมมาจล ทุนจำกัด” ในปี 2449 และเปลี่ยนมาเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์” เช่นทุกวันนี้ อาคารแห่งนี้มีความโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมโบซาร์ผสมผสานนีโอคลาสสิค ที่ยังคงความงดงามจนถึงปัจจุบัน

โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล
โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล

โรงแรมแห่งแรกของประเทศไทย : โรงแรมโอเรียนเต็ล เป็นโรงแรมอย่างเป็นทางการแห่งแรกของไทย ที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือประมาณปี พ.ศ. 2413 และเปิดให้ใช้งานได้อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2430 นับเป็นโรงแรมที่เก่าแก่ที่สุดของไทย และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย ที่นี่เคยต้อนรับแขกผู้มีเกียรติมากมาย อาทิ โจเซฟ คอนราด นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ รวมทั้งพระประมุขและผู้แทนพระองค์จากประเทศต่างๆ ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2549 ทั้งเสน่ห์ของโรงแรมแห่งนี้คืออาคารออเธอร์ส วิง ที่งดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค และเคยได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น เมื่อปี 2545

มัสยิดบ้านอู่
มัสยิดบ้านอู่

มัสยิดบ้านอู่ (7)
มัสยิดจดทะเบียนหลังแรกของไทย : มัสยิดบ้านอู่ เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิมที่เก่าแก่ที่สุด ได้รับการก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 หรือประมาณปี 2455 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานที่ดินผืนนี้ให้แก่ชาวมุสลิมที่โยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในกรุงเทพฯ สมัยนั้น เพื่อเป็นที่ตั้งของอาคารมัสยิดและกุโบร์ (สุสาน) คนในย่านนั้นรู้จักกันดีในชื่อ “สุเหร่าแขก” ทั้งนี้ ปัจจุบันนอกจากจะเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาของชาวมุสลิมย่านเจริญกรุง ยังเป็นโรงเรียนสอนศาสนาสำหรับชาวมุสลิม และสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะเวียนเข้าไปชมอยู่เสมอเมื่อมาเยือนย่านเจริญกรุง

ถนนเจริญกรุง (1)
ถนนเจริญกรุง

นอกจาก 4 ตัวอย่างข้างต้นนี้ ภายในย่านเจริญกรุงยังคงมีสถานที่ประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่สะท้อนถึงความเป็นศูนย์รวมความเจริญของประเทศ อาทิ “ห้างขายยาเบอร์ลิน” คลินิกเอกชนแห่งแรกๆ ของประเทศไทย, “บ้านเลขที่ 1 ของประเทศไทย” ที่ตรอกกัปตันบุช ปัจจุบันเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, “อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก” ที่ทำการไปรษณีย์และโทรเลขแห่งที่สองของประเทศไทย ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2483 ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก เน้นความเรียบง่ายแต่สวยงาม ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบจะเปิดให้บริการ ณ อาคารดังกล่าวอย่างเป็นทางการเพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมบุคลากรในแวดวงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเพื่อเติมเต็มความเป็น “ย่านสร้างสรรค์” อย่างเต็มรูปแบบของเจริญกรุง นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนา “เจริญกรุง” สู่ย่านสร้างสรรค์นั้น นอกจากจะเป็นการกระตุ้นทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของทางภาครัฐบาลแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนไทย ได้สัมผัสกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศ ไปพร้อมๆ กับการสัมผัสสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์ภายในย่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะปลูกฝังและพัฒนาบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตอันใกล้ ให้มีความคุ้นเคย และสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างประโยชน์ทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจได้ต่อไป นายอภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) 1160 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10501 โทรศัพท์ 02-105-7441
 

%d bloggers like this: