สถานทูตสวีเดน ร่วมมือกับ อิเกีย สนับสนุนนความเสมอภาคระหว่างเพศ

สถานทูตสวีเดน ร่วมมือกับ อิเกีย สนับสนุนนโยบาย
“สิทธิการลาเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้ชาย”
มุ่งสู่ความเสมอภาคระหว่างเพศ ในประเทศไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ สถานทูตสวีเดน และ อิเกีย ร่วมกันจัดงานแถลงข่าว ”สิทธิการลาเลี้ยงดูบุตร – ก้าวที่สำคัญสู่ความเสมอภาคระหว่างเพศ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ในด้านความเท่าเทียมทางเพศสู่สังคม และเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดียิ่งขึ้น มีวิถีชีวิตที่มีคุณภาพดีขึ้น รวมถึงมีประสบการณ์ในช่วงเวลาแสนพิเศษกับลูกน้อย

ในประเทศสวีเดน นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสวัสดิการด้านการเลี้ยงดูบุตรที่ดีที่สุดในโลก พ่อและแม่มีสิทธิลางานถึง 480 วัน (16 เดือน) โดยได้รับค่าจ้างเพื่อเลี้ยงดูลูกหรือลูกบุญธรรม พ่อและแม่จะได้รับวันลาคนละ 3 เดือน ส่วนอีก 10 เดือนที่เหลือสามารถแบ่งกันได้ตามความพอใจระหว่างพ่อและแม่ การแบ่งวันลาเลี้ยงลูกให้พ่อและแม่เท่าๆ กันมีผลดีหลายอย่าง ไม่เฉพาะกับผู้หญิงเท่านั้น แต่เห็นได้ชัดว่าหลังจากที่ผู้ชายสวีเดนเริ่มมีส่วนรับผิดชอบมากขึ้นในการเลี้ยงดูลูก ผู้หญิงก็มีรายได้และความสุขเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ฯพณฯ สตัฟฟาน แอร์สตรัม เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวถึงการสนับสนุนให้ทุกคนมีความเสมอภาคระหว่างเพศซึ่งกันและกันว่า “การสนับสนุนให้ทุกคนมีความเสมอภาคระหว่างเพศซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เรื่องที่ทำเพียงวันใดวันหนึ่งเท่านั้น แต่เราต้องให้ความเสมอภาคระหว่างเพศตลอด 365 วันและต้องให้ผู้ชายต้องมีส่วนร่วมในการสร้างความเสมอภาคต่อเพศหญิง ดังนั้น นโยบายหนึ่งที่จะช่วยสร้างให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ ได้แก่ สิทธิการลาเลี้ยงบุตรสำหรับบิดา ซึ่งในขณะนี้ประเทศสวีเดน บิดาสามารถลาหยุดได้ถึง 90 วันแล้วเพื่อดูแลบุตรได้อย่างเต็มที่”

ทางด้าน อิเกีย เชื่อว่า บ้าน เป็นสถานที่สำคัญที่สุดในโลก เพราะบ้านไม่เพียงแต่เป็นสถานที่พักพิงหรืออยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ อิเกียจึงสนับสนุนให้พนักงานทุกคนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ได้ใช้เวลาร่วมกันกับลูกน้อยในวัยแรกเกิดด้วยกันที่บ้าน โดยให้สิทธิการลาเลี้ยงดูบุตร หนึ่งในสวัสดิการที่โดดเด่นของอิเกียและถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการเข้าสู่ความเสมอภาคระหว่างเพศ
unnamed
มล.ลาร์ส สเวนสัน ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนและการสื่อสาร บริษัท อิคาโน่ รีเทล เอเชีย (อิเกียภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) กล่าวว่า “พนักงานคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรของอิเกีย เราจึงอยากให้พวกเขาได้มีชีวิตที่ดี และมีสมดุลทั้งในด้านหน้าที่การงานและชีวิตครอบครัว ช่วงเวลาที่อยู่ที่บ้านจึงสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ เป็นช่วงสร้างความผูกพันและพัฒนาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ผมเชื่อว่า การให้สิทธิการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรสำหรับบิดา จะเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่ช่วยให้ความเสมอภาคระหว่างเพศเท่าเทียมกันมากขึ้น เราจึงจัดให้มีวันลา 4 สัปดาห์เพื่อให้คุณพ่อได้เลี้ยงดูลูกโดยได้รับค่าจ้าง และหวังว่าวันลาที่มากขึ้นจะช่วยสนับสนุนพนักงานของเราในบทบาทความเป็นพ่อได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและเอื้อให้คุณพ่อทุกคนได้มีโอกาสแบ่งปันความรับผิดชอบในบ้านอีกด้วย”

นายสิงหเดช ชูอำนาจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “เราได้ให้ความสำคัญกับคุณแม่ผู้เป็นบุคคลสำคัญที่สุดเสมอในการเลี้ยงบุตรและทางด้านครอบครัว แต่ปัจจุบันคุณพ่อเองก็สามารถช่วยดูแลแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูลูกได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคุณแม่ผ่านนโยบายการลาหยุดเพื่อคลอดและเลี้ยงดูลูกสำหรับคุณแม่ ได้รับสิทธิลาคลอดได้ 90 วัน รวมถึงที่ทำงานบางแห่งได้มีการจัดสถานที่เพื่อให้ความรู้และให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพกับคุณแม่อีกด้วย แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีสิทธิการลาเลี้ยงลูกของคุณพ่อเหมือนของประเทศสวีเดน แต่สำหรับข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถใช้สิทธิสำหรับการเลี้ยงดูลูกเป็นระยะเวลา 15 วันได้แล้ว”

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวถึงบทบาทความสำคัญของความเป็นพ่อว่า “ตอนที่ไม่ได้เป็นพ่อคน ผมไม่เชื่อเลยว่าชีวิตของคนๆ หนึ่งจะมีความสำคัญในช่วง 3 ปี แรก แต่พอได้มาเป็นพ่อคนจริงๆ เรารู้เลยว่าเด็กมีพัฒนาการที่เร็วมากในช่วงแรกเกิด ดังนั้นการเลี้ยงดูจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นจุดสำคัญที่จะทำให้เขาเป็นคนที่ดีของชาติในอนาคตได้ นี่คือ ยุทธศาสตร์พัฒนาชาติ ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นสิ่งที่ทำให้คนไทย ครอบครัวและสังคมไทยแข็งแรงได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง”

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันจัดนิทรรศการภาพถ่าย Swedish Dads และ Thai Dads ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม HeForShe Arts Week ที่จัดขึ้นโดยองค์การ UN Women แห่งสหประชาชาติ เพื่อสนับสนุนความเสมอภาคระหว่างเพศผ่านกิจกรรมศิลปะและวัฒนธรรม พร้อมสะท้อนความคิดเห็นและบทบาทหน้าที่ความสำคัญของความเป็นพ่อได้เป็นอย่างดี ณ หอศิลปะและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

%d bloggers like this: