เคเอฟซี ปั้น ‘Community Hero’ เยาวชนไทยหัวใจเพื่อชุมชน
เคเอฟซี มุ่งสร้าง Positive Changing
ปั้น ‘Community Hero’ เยาวชนไทยหัวใจเพื่อชุมชน
ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ทุกองค์กรพยายามนำเสนอโครงการเพื่อสังคม บ้างเกาะกระแสรักษ์โลก หลายบริษัทให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนไทย ทั้งด้านการศึกษาหรือสันทนาการเพื่อสร้างเสริมทักษะ และส่วนใหญ่ผู้ปฏิบัติมักเป็นพนักงานในองค์กรหรือลูกค้าของแบรนด์นั้นๆ แต่แล้วก็พบว่าเคเอฟซี กลับฉีกภาพCorporate Social Responsibility ให้ต่างออกไป โดยนำเสนอโครงการประกวดแผนกิจกรรมพัฒนาสังคมเป็นครั้งแรกในชื่อ “KFC Community Hero เป็นตัวจริงเพื่อสังคม” โดยแกนหลักของโครงการมุ่งให้นิสิตนักศึกษาใช้ความคิด ความสามารถและความชำนาญ สร้างสรรค์แผนงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาในชุมชนและสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ซึ่งไอเดียจากน้องๆทั้ง 5 ทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงนั้น ช่วยกระตุกต่อมคิดให้ผู้ใหญ่และทุกคนในสังคมหันมาสนใจความต้องการที่แท้จริงของชุมชนที่อาศัยอยู่ และอยากเป็น ‘ฮีโร่ติดดิน’
นางสาวณิชารัศมิ์ อาชญาสิทธิวัตร ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ส่วนบริหารแบรนด์และการสื่อสารการตลาด เคเอฟซี ประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ให้เยาวชนในระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ นำเสนอแนวคิดกลยุทธ์การจัดการและดำเนินงานการแก้ปัญหาที่ทันต่อยุคสมัยในปัจจุบัน เน้นการปลูกจิตสำนึกและกระตุ้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน รวมถึงมีผลสำเร็จที่ยั่งยืน โดยแต่ละทีมสามารถเลือกนำเสนอภายใต้ 3 หัวข้อได้แก่ Passion for Food เกี่ยวข้องกับอาหารและโภชนาการ คุณภาพของอาหารการกิน รวมถึงความสะอาดหรือความหลากหลายของอาหารภายในชุมชนนั้นๆPassion for Life เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตในชุมชนอย่างมีเป้าหมาย อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้ชุมชนน่าอยู่ โดยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อมุ่งสู่การเป็นพลเมืองที่ดีในสังคมไทยและประเทศชาติ และ Originalityเกี่ยวข้องกับเอกลักษณ์ วัฒนธรรมหรือมรดกของชุมชนนั้นๆ ที่ควรค่าต่อการเก็บรักษาเพื่อสะท้อนรากเหง้าของชุมชนและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
ดร.ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ ที่ปรึกษาและนักกลยุทธ์การสื่อสาร กล่าวเสริมว่า หลายองค์กรมีสไตล์ในการทำCSR ของตัวเองให้ดีและน่าสนใจ แต่สำหรับโครงการนี้มีความโดดเด่นที่หัวข้อให้เลือกหลากหลาย โดยไม่ตีกรอบโจทย์ แต่เปิดกว้างให้คิดบนพื้นฐานชุมชนของเด็กเอง และด้วยหลักเกณฑ์คัดเลือกตัวแทนภาคยังช่วยสะท้อนให้สังคมเห็นศักยภาพของเยาวชนต่างจังหวัดที่มีความสามารถไม่ด้อยไปกว่าในเมืองอีกด้วย และในฐานะที่เขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการฯ ย่อมมีหลักเกณฑ์ในการให้คะแนน โดยแผนงานต้องมีโอกาสของความสำเร็จ คือสามารถทำได้จริง และสามารถต่อยอดส่งต่อยังชุมชนได้ เมื่อแผนงานดีแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนเทคนิคการนำเสนอ รวมทั้งทักษะในการตอบคำถามจากกรรมการ ตลอดจนยอด View จากคลิปวิดีโอของผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งผลจากการคัดสรรทั้ง 5 ทีมเข้ามาล้วนมีแผนงานที่ครอบคลุมทั้ง 3 หัวข้อ โดยทุกทีมมีความโดดเด่นที่แตกต่างกันไปและน่าสนใจทุกทีม
และผลคะแนนก็ปรากฎว่าผู้ชนะ คือ ทีม Give me a hand จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ตัวแทนภาคกลาง นำเสนอโครงการ “ไก่รักษ์ดิน คืนถิ่น หนองบอนแดง” กระตุ้นจิตสำนึกผู้บริโภคในการแยกกระดูกไก่และส่งเสริมเกษตรกรชุมชนบ้านพยอม ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากกระดูกไก่เพื่อช่วยปรับค่า PH หน้าดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืช โดยน้องๆ เลือกหัวข้อ Passion for Life มีการทำวิจัยผลลัพธ์ที่เกิดจากการนำกระดูกไก่ ซึ่งมีแร่ธาตุมากมายแปลงให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ทั้งยังลงพื้นที่จริง เพื่อสำรวจความเห็นและความต้องการของชุมชน มีตัวเลขผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสามารถกระตุ้นให้คนในชุมชนลงมือทำเองได้ และวางเป้าหมายด้านการประชาสัมพันธ์ด้วยวิธี On-Tour Roadshow ไปทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์เคเอฟซีและชุมชน ทั้งยังสะท้อนภาพ CSR ขององค์กรได้เป็นอย่างดี
ยังมีอีกหนึ่งทีมที่มีแผนงานคล้ายคลึงกัน แต่มีความแตกต่างในรายละเอียด อย่าง ทีม The Three Heroes CU จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่นำเสนอโครงการ “So green so good” กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการแยกขยะและรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ โดยการนำเศษกระดูกไก่จากร้านเคเอฟซีที่เหลือทิ้งมาแปรรูปเป็นปุ๋ย ซึ่งน้องๆนักศึกษาการตลาด เปิดเผยว่า พวกเขาศึกษาสูตรและผลิตปุ๋ยขึ้นเองพร้อมนำไปแจกจ่ายเกษตรกรบ้านเนินรัก อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เพื่อต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกร และลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่ปัจจุบันมีการใช้เกินความจำเป็น โดยมุ่งเน้นเรื่องสุขภาพเป็นสำคัญ และอีกทีมหนึ่งที่นำเสนอหัวข้อเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตในชุมชนอย่างมีเป้าหมาย ทีม โอ๊บ โอ๊บ เทคโนโคราช จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน เมื่อพวกเขานำเสนอโครงการ “มหัศจรรย์กบทำเงิน” รณรงค์ให้เกิดการเลี้ยงกบในขวดพลาสติก โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่พื้นที่การเกษตรประสบปัญหาดินเค็ม และช่วยเสริมรายได้แก่ชาวชุมชนหมู่บ้านซึมพัฒนา ต.สัมฤทธิ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งโครงการนี้เป็นการสานต่อโปรเจคในมหาวิทยาลัยที่น้องๆทำกันก่อนหน้านี้ โดยน้องๆเผยว่าแผนงานนี้ผ่านการลงมือทำจริงแล้ว เป็นงานวิจัยที่ทำเงินให้กับชุมชนได้จริง และสามารถบอกต่อไปยังชุมชนอื่นที่ต้องการจะลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงกบ และลดอัตราการตายของกบได้อีกด้วย
ส่วนทีมที่นำเสนอในหัวข้อ Passion for Food ได้แก่ ทีม The Lighting จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ตัวแทนภาคเหนือ กับโครงการ “การรณรงค์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ ชุมชนบ้านแม่แป้น ต.นาแก อ.งาว จ.ลำปาง” ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น ตรวจสุขภาพ การให้ความรู้ การจัดทำแผ่นพับ โปสเตอร์ เพื่อลดการเกิดโรคภัยต่างๆ ที่บั่นทอนสุขภาพของคนในชุมชน ซึ่งน้องๆเลือกที่จะเข้าหาผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และเข้าไปคลุกคลีกับคนในชุมชน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ปิดท้ายที่หัวข้อ Originality โดย ทีม WU KFC จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตัวแทนภาคใต้ นำเสนอโครงการ“ตะลอนทัวร์เชิดชูมโนราห์สู่ชุมชน” รณรงค์ให้เยาวชนเด็กรุ่นใหม่ เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นภาคใต้ ด้วยการฟื้นฟูการแสดงมโนราห์ และให้ความสำคัญกับปราชญ์ชาวบ้าน โดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อหลักในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย พร้อมจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมมโนราห์ให้กับชุมชน ที่มหาวิทยาลัยมกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเชื่อมโยงคนทุกเจอเนอเรชั่นเข้าด้วยกัน