จำกัดความเร็ว จำกัดการตาย
จำกัดความเร็ว จำกัดการตาย
จากสถิติความปลอดภัยทางถนนพบว่าความเร็ว เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดอุบัติภัยทางถนน รายงานจากองค์การอนามัยโลกพบว่า หนึ่งในสามของจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในประเทศที่รายได้สูงมีสาเหตุมาจากความเร็ว ในขณะที่ครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในประเทศรายได้น้อยถึงปานกลาง ก็มีสาเหตุมาจากความเร็วเช่นกัน มีการเปรียบเทียบว่าหากขับรถที่ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเกิดการชน ความรุนแรงของการกระแทกจะเทียบเท่ากับการตกตึกถึง 19 ชั้น ดังนั้นการเหยียบคันเร่งเกินความเร็วที่กำหนดเพียงแค่ครั้งเดียว อาจก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินมากกว่าที่คิดไว้
เนื่องในสัปดาห์ความปลอดภัยทางถนนโลกขององค์การประชาชาติ (UN Global Road Safety Week) ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 และมีหัวข้อรณรงค์หลักคือความเร็ว มูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies Initiative for Global Road Safety; BIGRS) ซึ่งให้การสนับสนุนกรุงเทพมหานครในการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บบนท้องถนน และเพิ่มความปลอดภัยในการสัญจรเดินทางให้กับกรุงเทพมหานคร จึงขอร่วมรณรงค์ให้ผู้ขับขี่ขับรถด้วยความไม่ประมาทและใช้ความเร็วที่เหมาะสมตามกฎหมายกำหนด เพื่อช่วยยับยั้งความรุนแรงหากเกิดอุบัติภัยทางท้องถนน
สำหรับในเขตเมือง อัตราความเร็วตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับ 8 พ.ศ. 2551 ระบุไว้ว่า รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ สามารถใช้ความเร็วในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับรถบรรทุก หรือรถบรรทุกคนโดยสาร สามารถขับขี่ในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ด้วยความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่รถบรรทุกลางจูงหรือรถสามล้อเครื่องสามารถขับขี่ในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล ได้ที่ความเร็ว 45 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง เท่านั้น หรือนอกเขตดังกล่าวให้ขับไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
การลดความเร็วบนถนนในเขตชุมชนเมืองเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะด้านผลกระทบต่อผู้ที่เดินทางสัญจรบนทางเท้า ทางจักรยานและทางข้าม จากงานศึกษาวิจัยที่ผ่านมาขององค์การอนามัยโลก พบว่าอัตราการรอดชีวิตของคนเดินเท้า จากการถูกรถชนจะแปรผันโดยตรงกับความเร็วของรถในขณะที่ชน นั่นคือ ร้อยละ 98 ของคนเดินเท้ามีโอกาสรอดชีวิตเมื่อถูกชนโดยรถที่วิ่งด้วยความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่อัตราการรอดชีวิตจะลดลงจนเหลือเพียงร้อยละ 30 เมื่อถูกชนด้วยรถที่วิ่งด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากข้อมูลของข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจร ในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2541 กรุงเทพมหานครได้มีการจำกัดความเร็วสำหรับถนนหรือซอยที่ผ่านชุมชน ซึ่งมีผิวจราจรกว้างไม่เกิน 7 เมตร ไม่มีทางเดินเท้าหรือไหล่ทาง ให้ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วได้เพียง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับถนนหรือซอยที่ผ่านชุมชน ซึ่งมีผิวจราจรกว้างไม่เกิน 7 เมตร แต่มีทางเท้าหรือไหล่ทาง ให้ผู้ขับขี่สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกเหนือจากการติดตั้งป้ายจำกัดความเร็ว กรุงเทพมหานครยังมีการตีเส้นชะลอความเร็ว ทำเนินชะลอความเร็ว เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนนอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ สามารถใช้ความเร็วบนทางหลวงชนบทได้ไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถบรรทุกหรือรถบรรทุกคนโดยสาร ให้ใช้ความเร็วบนทางหลวงชนบทได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถบรรทุกลากจูงหรือรถสามล้อเครื่อง บนทางหลวงชนบทให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์กรุงเทพ-ชลบุรี) และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) กำหนดให้รถบรรทุกลากจูงใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถบรรทุกหรือรถบรรทุกคนโดยสาร ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรถยนต์อื่นๆ ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
อุบัติภัยทางถนนป้องกันได้ด้วยจิตสาธารณะของผู้ขับขี่ ก่อนเหยียบคันเร่งครั้งใด อย่าลืมนึกถึงความปลอดภัยของตัวเองและของผู้ร่วมทาง
#####
เกี่ยวกับโครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลกโดยมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์
กรุงเทพมหานครได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies) ซึ่งมีสำนักงานที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ให้เป็น 1 ใน 10 เมืองที่เข้าร่วม โครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก (Bloomberg Philanthropies Initiative for Global Road Safety; BIGRS) เป็นระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2558-2562) โดยมุ่งลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครให้ได้มากที่สุด ทั้งการรณรงค์สร้างจิตสำนึกเพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน อาทิ ดื่มไม่ขับ การใช้ความเร็วที่เหมาะสม การคาดเข็มขัดนิรภัย การสวมหมวกนิรภัย รวมถึงการออกแบบพัฒนาปรับปรุงถนนให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น