กสอ. ชูไอเดีย ไทย..เที่ยว..เท่ สัมผัส 9 เสน่ห์ชุมชน SMES
กสอ. เผย 5 อุตฯ รับอานิสงส์กระแสบูมท่องเที่ยว
ชูไอเดีย ไทย..เที่ยว..เท่ สัมผัส 9 เสน่ห์ชุมชน SMES
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์ 5 อุตสาหกรรมโตรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 2.วิสาหกิจชุมชนและโอท็อป 3.อุตสาหกรรมดิจิทัลและสตาร์ทอัพ 4.อุตสาหกรรมสิ่งทอ และ 5.อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เผยปีที่ผ่านมาสร้างมูลค่าได้กว่า 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกที่ประเทศไทยยังคงมีศักยภาพและความเชื่อมั่นที่ดีต่อนักท่องเที่ยว พร้อมชี้ไตรมาสที่ 2 คาดว่าการท่องเที่ยวของไทยยังคงคึกคักโดยได้รับปัจจัยส่งเสริมทั้งจากเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีเงินสะพัดถึง 127,693 ล้านบาท การสร้างแพ็คเกจต่าง ๆ การทำตลาดและการโฆษณาที่แปลกใหม่ โดยในส่วนของ กสอ.ยังได้ดำเนินโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผลักดันกิจกรรม ไทย..เที่ยว..เท่ เพื่อเป็นทางเลือกการท่องเที่ยวตามรอย 9 วิถีชุมชนรูปแบบใหม่ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับบริการและกิจกรรมที่จะสร้างประสบการณ์แบบที่ไม่เคยมีในเมืองไทยมาก่อน
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการท่องเที่ยว ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทและความสำคัญของประเทศอย่างสูงสุด โดยประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมด้านนี้อยู่ในลำดับต้นๆ เนื่องจากก่อให้เกิดผลประโยชน์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่น่าจดจำของประเทศ สำหรับในปี 2559 ที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้เป็นมูลค่าถึง 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากเป้าหมายที่ได้วางไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท (ที่มา: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)) โดยตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงสัญญาณบวกเกี่ยวกับภาพลักษณ์และศักยภาพด้านกิจกรรมทางการท่องเที่ยวของไทยที่ยังคงมีความน่าเชื่อถือได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งมูลค่าที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวมานี้ยังถือเป็นเข็มทิศที่จะช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวและส่วนที่เกี่ยวข้องให้มีการเติบโตมากขึ้นในปีนี้และในอนาคตได้ต่อไป
ดร.พสุ กล่าวต่อว่า สำหรับช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยโดยภาพรวม พบว่ายังคงมีทิศทางที่เป็นบวกโดยมีนักท่องเที่ยวประมาณ 11.81 ล้านคน และมีรายได้จากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่ไม่ต่ำกว่า 6.1 แสนล้านบาท (ที่มา: ธ.กสิกรไทย) โดยปัจจัยที่สนับสนุนและยังคงช่วยให้อุตสาหกรรมนี้มีการเติบโตพบว่าส่วนใหญ่นั้นมาจากการรุกประชาสัมพันธ์และนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยว มาตรการการกระตุ้นการใช้จ่ายต่อผู้บริโภคที่มีมากขึ้น ผู้ประกอบการมีการสร้างความแตกต่างทางธุรกิจและการให้บริการโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งสามารถช่วยดึงดูดความน่าสนใจและยกระดับการท่องเที่ยวได้อย่างดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ดำเนินธุรกิจในหลาย ๆ ประเภทยังได้หันมาใช้กลยุทธ์การตลาดแบบเจาะกลุ่ม ซึ่งสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวอย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนที่กล่าวถึงข้างต้น นอกจากจะเป็นตัวช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการเติบโตและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้แล้ว ยังช่วยกระตุ้นและส่งผลดีกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เป็นฐานรองรับและเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว ดังนี้
- อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อาหารไทยนับว่าเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวประเภทหนึ่งที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างมาก จากสถิติพบว่า นอกเหนือจากเหตุผลหลักที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมีการเดินทางเพื่อพักผ่อนหย่อนใจก็คือเพื่อสัมผัสหรือลิ้มลองรสชาติอาหารโดยเฉพาะอาหารประจำภาคและประจำท้องถิ่น นอกจากนี้ ในการเดินทางท่องเที่ยวยังส่งผลประโยชน์ถึงอาหารอีกหลายประเภททั้งอาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ อาหารเฉพาะกลุ่ม และอาหารที่เป็นของฝาก ทั้งนี้ การมีความหลากหลายและวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดถือเป็นข้อดีให้ผู้ประกอบการได้หยิบยกความได้เปรียบในส่วนนี้มาใช้ ซึ่งถ้าหากยิ่งพัฒนาและยิ่งสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น เชื่อว่าในอนาคตอุตสาหกรรมดังกล่าวนี้จะขยับขึ้นมามีความสำคัญเทียบเท่ากับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างแน่นอน
- อุตสาหกรรมชุมชนและโอท็อป ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าจากวิสาหกิจชุมชน ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับประเทศและอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวอยู่ไม่น้อย โดยในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างมูลค่าได้กว่า8.04 หมื่นล้านบาท (ที่มา : กรมการพัฒนาชุมชน) ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นแทบทั้งหมดนี้เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยว การจัดนิทรรศการ และกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ โดยสินค้าที่เป็นที่นิยมส่วนใหญ่พบว่าอยู่ในกลุ่มเครื่องประดับ วัตถุดิบท้องถิ่นแปรรูป เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร สำหรับการสร้างความเข้มแข็งและเชื่อมโยงสินค้าเหล่านี้ให้เข้ากับการท่องเที่ยวผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ มีนวัตกรรม รวมทั้งดีไซน์ใหม่ ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องใช้โซเชียลมีเดียมาช่วยในการประชาสัมพันธ์และเพิ่มช่องทางตลาดเพื่อที่จะกระจายสินค้าไปยังแหล่งท่องเที่ยวและโมเดิร์นเทรด ทั้งนี้ มั่นใจว่าในอนาคตผลิตภัณฑ์โอท็อปจะเป็นตัวช่วยสำคัญและมีศักยภาพในการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนมากกว่าในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา
- อุตสาหกรรมดิจิทัลและสตาร์ทอัพ การรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ผู้ประกอบการหลายรายได้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ และช่องทางออนไลน์มาเป็นส่วนหนึ่งของการทำตลาดถึงกว่าร้อยละ 80 (ที่มา: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)) ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การซื้อสินค้าออนไลน์ ทั้งยังก่อให้เกิดผู้ประกอบการด้านสตาร์ทอัพอีกหลายประเภท อาทิ บริการจองร้านอาหารและที่พัก บริการการขนส่งและนำเที่ยว รวมถึงแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมโยงถึงหลายอุตสาหกรรมและธุรกิจหลาย ๆ ประเภท สำหรับในปีที่ผ่านมามูลค่าการประชาสัมพันธ์บนสื่อออนไลน์พบว่ามีมูลค่า สูงถึง 9,150 ล้านบาท (ที่มา : สมาคมโฆษณาดิจิทัล ประเทศไทย) ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าในอนาคตอันใกล้นี้อุตสาหกรรมประเภทดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญอันดับหนึ่งในการเข้าถึงกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีบทบาทสำคัญที่สุดอย่างแน่นอน
- อุตสาหกรรมสิ่งทอ การขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมถือว่ามีผลบวกต่อการเข้าสู่ตลาดโลกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผู้บริโภคแฟชั่นและนักท่องเที่ยวล้วนมีการเชื่อมโยงรสนิยมและเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเข้ากับสินค้าประเภทต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่อยู่ในภูมิภาคโดยรอบ ประเทศไทยยังนับว่าได้เปรียบในอุตสาหกรรมด้านนี้อยู่สูงมาก เนื่องจากมีแบรนด์สินค้าที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ที่เด่นชัดมากกว่า รวมทั้งการออกแบบที่หลากหลาย ซึ่งนับว่าเป็นข้อดีที่ปัจจัยส่งเสริมเหล่านี้จะยังคงเป็นส่วนที่ช่วยให้มีการบริโภคผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอจากไทยในปริมาณที่สูง แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกที่มากมายผู้ประกอบการเองก็ยังจำเป็นจะต้องพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้สูงมากขึ้นเพื่อก้าวล้ำกว่าคู่แข่งที่อยู่โดยรอบต่อไป
- อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก เนื่องจากมีวัตถุดิบที่หลากหลาย คุณภาพดี และมีแรงงานที่มีฝีมือจึงทำให้สินค้ามีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับจากนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคอื่น ๆ ทั่วโลก สำหรับในปีที่ผ่านมาการผลิตเครื่องประดับและอัญมณีของไทยมีมูลค่ากว่า 480,000 ล้านบาท (ที่มา :สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)) และถือว่ายังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวในปริมาณที่สูงทั้งในกลุ่มเครื่องประดับเทียม ทองรูปพรรณ เครื่องประดับที่ทำจากเงินและสินค้าประดับเพชรพลอย โดยสินค้าเหล่านี้สามารถพบได้ตามแหล่งท่องเที่ยว อาทิ กาญจนบุรี จันทบุรี ศรีสะเกษ อุบลราชธานี แพร่ เพชรบูรณ์ และสุโขทัย ทั้งยังพบได้ตามช่องทางการค้าต่าง ๆ ทั้งที่เป็นแหล่งของฝากและระดับโมเดิร์นเทรด ทั้งนี้ ในปี 2560 คาดว่า การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวและภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า High-end และกลุ่มเพชรพลอย
อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสที่ 2 กสอ. มีความเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะยังคงมีทิศทางที่สดใส ซึ่งขณะนี้เริ่มมีสัญญาณบวกของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน และกลุ่มตะวันตกที่มีการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนทั้งจากเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปีนี้คึกคักกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย คาดการณ์ว่าจะมีเงินสะพัด 127,693 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.53เนื่องจากประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 76.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งสูงที่สุด ในรอบ 24 เดือน (ที่มา : หอการค้าไทย) นอกจากนี้ ยังมีการสร้างแพ็คเกจต่าง ๆ การทำตลาดและการโฆษณาที่แปลกใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะยังคงมีอิทธิพลและปัจจัยในการดึงดูดให้เกิดการใช้จ่ายและเข้ามาร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น สำหรับในส่วนการส่งเสริมและสนับสนุนของ กสอ. ได้จัดทำกิจกรรม ภายใต้แนวคิด ไทย..เที่ยว..เท่ ที่ได้ผลักดันให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสเสน่ห์วิถีชุมชนจาก 9 หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ Creative Industry Village (CIV) ซึ่งประกอบไปด้วย 1.ชุมชนออนใต้ จ.เชียงใหม่ 2.ชุมชนน้ำเกี๋ยน จ.น่าน 3.ชุมชนบ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย 4.ชุมชนเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี 5.ชุมชนบ้านศาลาดิน จ.นครปฐม 6.ชุมชนปากน้ำประแส จ.ระยอง 7.ชุมชนบ้านเชียง จ.อุดรธานี 8.ชุมชนบ้านนาตีน จ.กระบี่ และ 9.ชุมชนเกาะยอ จ.สงขลา เพื่อเป็นทางเลือกการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับบริการและกิจกรรมที่จะสร้างประสบการณ์แบบที่ไม่เคยมีในเมืองไทย ทั้งยังจะได้เรียนรู้ วิถีชีวิต การเลือกชมและซื้อสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ ที่ได้พัฒนาจากความคิดสร้างสรรค์ ทั้งนี้ เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมนี้จะสามารถช่วยผลักดันการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานรากจนถึงระดับสูง เชื่อมต่อทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้กับประเทศไทยอีกด้วย ดร.พสุ กล่าวปิดท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4414-17หรือ เข้าไปที่ http://www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr