Anurak Community Lodge ชวนนักท่องเที่ยว ร่วมกัน ‘ปลูกให้เป็นป่า’
Anurak Community Lodge ชวนนักท่องเที่ยว
ร่วมกัน ‘ปลูกให้เป็นป่า’ สานต่อธุรกิจ
บนหลักการ Sustainability
Eco-Lodges (ที่พักเชิงนิเวศ) อย่าง Anurak Community Lodge ผลักดัน ‘ปลูกให้เป็นป่า’ ชวนนักท่องเที่ยวให้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ ให้เป็นป่าดิบชื้นด้วยวิธีพรรณพืชโครงสร้างภายในปี 2566 เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งโครงการที่แจ้งเกิดโดย YAANA Ventures ที่ผู้ก่อตั้งต้องการสร้าง One-stop travel company ซึ่งยึดถือหลักการ Sustainability เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ มีที่มาและแนวทางเช่นไรจากคำบอกเล่าของ Willem Niemeijer ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ
Willem Niemeijer
เรื่องราวของ YAANA Ventures เริ่มต้นขึ้นในปี 2536 ด้วยแนวคิดของผู้ก่อตั้ง Willem Niemeijer ที่ต้องการสร้าง One-stop travel company หรือบริษัทท่องเที่ยวแบบครบวงจรสำหรับลูกค้าที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ทางเลือกที่ไม่เหมือนใครเมื่อเดินทางมายังประเทศไทยและอินโดจีน โดยมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการสร้างกิจการ ซึ่งยึดถือเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เป็นแรงบันดาลใจ
เริ่มที่ Khiri Travel (บริษัท คีรี แทรเวล จำกัด) ที่ก้าวจากกิจการ Startup จนเป็นธุรกิจขนาดเล็กในเมืองไทย ในรูปแบบที่ผู้ประกอบการชาวต่างชาติร่วมมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อสร้างประสบการณ์จริงที่สร้างความพึงพอใจให้กับบริษัทธุรกิจท่องเที่ยวและตัวแทนการท่องเที่ยวในยุโรปและอเมริกาเหนือ กระทั่งขณะนี้ได้ขยายธุรกิจไปยังเมียนมา อินโดนีเซีย ศรีลังกา และมัลดีฟส์อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตามก่อนจะเข้าสู่เส้นทางผู้ประกอบการในเมืองไทยนั้น Willem เล่าว่าตัวเขาเองเป็นชาวฮอลแลนด์ที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นและมีโอกาสได้มาเมืองไทยเมื่อราวปี 2525 กระทั่งได้ทำงานประจำในฐานะลูกจ้างของบริษัททัวร์ที่ประเทศฮอลแลนด์ จึงทำให้เขาได้เดินทางมากยิ่งขึ้น จนมีโอกาสได้เข้ามาทำงานที่เมืองไทยและเก็บเกี่ยวประสบการณ์มากขึ้น
กระทั่งเมื่อ 27 ปีก่อน Willem จึงตัดสินใจก่อตั้งกิจการของตัวเองขึ้นในปีที่รัฐบาลไทยประกาศนโยบาย Visit Thailand Year และยังเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กลุ่มอินโดจีนเริ่มมีการเปิดประเทศมากขึ้น จึงเล็งเห็นว่าเป็นจังหวะเหมาะในการทำเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมระหว่างเมืองไทยกับอินโดจีน ที่ปัจจุบัน Khiri Travel ได้ขยายธุรกิจจนมี 18 สำนักงานอยู่ใน 7 ประเทศ
หลังจากนั้น ด้วยความชื่นชอบผู้คนและสภาพภูมิประเทศของสปป.ลาว และมองว่ามีช่องทางที่จะขยายกิจการให้ไปไกลกว่าเพียงทำบริษัทท่องเที่ยว Willem จึงเริ่มบุกเบิกธุรกิจที่พักในภาคใต้ของสปป.ลาว ด้วยการเปิดให้บริการตาดฟานรีสอร์ตขึ้นที่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก เมื่อปี 2542 ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางป่าเขาและมีน้ำตกตาดฟานที่สวยงามเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ที่มาช่วยเติมเต็มการเป็น One-stop travel company ที่เน้นย้ำด้าน Sustainability ให้แข็งแกร่งขึ้น
Anurak Eco-Lodges ผลักดัน ‘ปลูกให้เป็นป่า’
ธุรกิจ Eco-Lodges หรือที่พักเชิงนิเวศ ในนาม Anurak Community Lodge (อนุรักษ์ คอมมูนิตี้ ลอดจ์) เปิดให้บริการเมื่อปี 2559 ตั้งอยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 ที่ตัดผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก เป็นอีกหนึ่งภาพต่อของ One-stop travel company ที่เป็นผลจากแรงบันดาลใจด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติในเมืองไทย ด้วยเพราะการท่องเที่ยวแนวผจญภัยธรรมชาติเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ
“แนวทางของ Khiri Travel คือสร้างความแต่งต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น ผมอยากให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสคนไทยและวัฒนธรรมไทยอย่างแท้จริง แต่ด้วยคุณภาพของที่พักอาจยังไม่ตอบโจทย์ จึงตัดสินใจสร้างขึ้นเอง”
Willem เล่าว่าก่อนจะเริ่มลงมือสร้าง Anurak Community Lodge ต้องใช้เวลานานกว่า 2 ปีในการพัฒนา วางแผนและกำหนดแนวคิดทั้งหมด เพื่อให้เป็นสถานที่มอบประโยชน์สูงสุดต่อธรรมขาติและชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการได้สร้างความสุขแก่แขกผู้มาเยือนจากต่างแดน จึงใช้เวลาในการเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมจากคนในพื้นที่ เพื่อนำมาพัฒนาสถานที่ให้เป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนและกลมกลืมกับธรรมชาติมากที่สุด
ทั้งนี้เพื่อตอกย้ำแนวทางที่ต้องการส่งเสริม Sustainability ให้เด่นชัด ล่าสุด Anurak Eco-Lodges ริเริ่มเปิดตัวโครงการ “ปลูกให้เป็นป่า” เพื่อรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
นอกเหนือจากกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เช่น การปีนเขา พายเรือคายัค และทำอาหารป่า โดย Anurak Eco-Lodges จัดกิจกรรมให้แขกผู้เข้าพักร่วมปลูกต้นอ่อนของพันธุ์ไม้ป่าดิบประจำถิ่น เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ข้าง ๆ ตัวสถานที่พักจากเดิมที่เป็นสวนปาล์มน้ำมันในอดีต ให้เป็นป่าดิบชื้นด้วยวิธีพรรณพืชโครงสร้าง ภายในปี 2566 โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูพื้นที่นี้ให้มีความหลากหลายทางชีวภาพและเชื่อมต่อกับพื้นที่อีก 10 ไร่ที่อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาสก
Willem เล่าว่าพื้นที่ตั้งของ Anurak Eco-Lodges ถูกถางป่ามามากกว่า 50 ปี โดยถูกดัดแปลงเป็นสวนมะพร้าวก่อน จากนั้นเป็นสวนผลไม้ที่ปลูกพืชหลากหลาย ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย จนประมาณปี 2550 พื้นที่ป่าแห่งนี้ก็ถูกแผ้วถางอีกครั้งเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน
แต่ด้วยการทำสวนปาล์มน้ำมันนั้นเป็นการเกษตรระบบนิเวศเชิงเดี่ยว ที่ไม่สามารถเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกและสัตว์ต่าง ๆ เช่น กวาง หมูหริ่ง ชะมด พังพอน ตัวนิ่ม สมเสร็จ หมูป่าและลิงลม ด้วยเพราะสัตว์เหล่านี้ล้วนต้องการเมล็ดและผลไม้ที่หลากหลายเพื่อเป็นอาหาร
Anurak Eco-Lodges จึงได้ร่วมกับหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (FORRU) เพื่อทำการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศในพื้นที่แห่งนี้ ให้เหมาะเป็นป่าดิบชื้นเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
สำหรับกิจกรรมที่แขกผู้เข้าพักสามารถมีส่วนร่วมได้นั้น Willem เล่าว่าก็ด้วยการร่วมสมทบทุน จำนวน 300 บาท (10 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อร่วมทำกิจกรรมปลูกต้นกล้าหนึ่งพันธุ์ในสถานที่ที่กำหนด ตามแผนที่จัดทำโดย FORRU ซึ่งแขกผู้เข้าพักจะได้รับเสื้อทีเชิ้ต “Rainforest Raising” และได้รับข่าวสารความคืบหน้าของต้นไม้ที่ “พวกเขา” ได้ลงมือปลูกไว้ รวมถึงข้อมูลความคืบหน้าของโครงการนี้ผ่านอีเมล
นอกจากนี้ Anurak Eco-Lodges ยังได้สร้างศูนย์ข้อมูลเพื่ออธิบายถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและข้อควรพิจารณาในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไว้เพื่อให้แขกผู้เข้าพักได้ศึกษาและเรียนรู้ โดยเฉพาะพืชสายพันธุ์ที่เติบโตเร็วเหมาะกับการเพาะปลูก เช่น ฝ้าย ถั่ว พลัม และต้นองุ่น เป็นต้นกล้าที่เติบโตเร็วและเป็นผลไม้เนื้อ สามารถดึงดูดสัตว์ป่า อีกทั้งยังสามารถแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ได้หลากหลายโดยนก เช่นนกโพระดกคอสีฟ้า นกแว่นตาขาวสีทอง และนกปรอด
รวมถึงนักท่องเที่ยวจะได้รับประสบการณ์ที่มีความหมายและเป็นเสมือนรางวัล จากกิจกรรมการปลูกต้นไม้ การศึกษาข้อมูลทั้งหมดของแคมเปญจากศูนย์ข้อมูลที่จัดไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ การพูดคุยกับคนสวน และการเข้าร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแล้ว นักท่องเที่ยวยังมีส่วนช่วยในการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศในระยะยาวด้วย
ทั้งนี้หากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ได้คลี่คลายลงแล้ว Willem คาดว่า โครงการ ‘ปลูกให้เป็นป่า’ จะสามารถดึงกลุ่มโรงเรียนและวิทยาลัยเข้าร่วมเพื่อรณรงค์แคมเปญนี้ โดย FORRU จะสามารถส่งเจ้าหน้าที่จากพื้นที่วิจัยในจังหวัดกระบี่ เพื่อนำกลุ่มศึกษาและช่วยนักเรียนร่วมทำกิจกรรมการปลูกต้นไม้ต่อไป
ไม่เพียงเท่านั้น YAANA Ventures ยังริเริ่ม Eco-Lodges อีกแห่ง ซึ่งยังคงยึดแนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเช่นเคย โดยครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกับ Minor Group และ Wildlife Alliance เปิดให้บริการ Cardamom Tented Camp เมื่อปี 2560 ในรูปแบบของแคมป์ที่พักแนวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในเขตสัมปทานเนื้อที่ 112,500 ไร่ (หรือราว 180 ตารางกิโลเมตร) ภายในอุทยานแห่งชาติ Botum Sakor ที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อรักษาป่าและความหลากหลายทางชีวภาพของป่า ปกป้องป่าจากกการตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบล่าสัตว์และการขุดทราย
โดยจุดเด่นที่สำคัญของ Cardamom Tented Camp คือจะมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจำนวน 12 ราย ทำหน้าที่พาแขกผู้มาเข้าพักเดินป่าสัมผัสและเรียนรู้ชีวิตธรรมชาติ ซึ่ง Cardamom Tented Camp เป็นฝ่ายสนับสนุนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทั้งในด้านเงินเดือนและเครื่องมืออุปโภค เช่น เครื่องผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ที่สถานีพิทักษ์ป่า เนื่องจากการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทำให้การลักลอบฆ่าสัตว์ป่าเพื่อขายลดลงอย่างมหาศาล
“แผนธุรกิจในอนาคตของ YAANA Ventures นอกจากขยายจำนวนห้องของ Anurak เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมองหาโอกาสทำที่พักแนว Eco-Lodges ในประเทศอื่น ๆ ทั่วเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ให้มากขึ้นอีก”
อย่างไรก็ตามธุรกิจของ YAANA Ventures ถือว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด Covid-19 โดยตรง และ Willem ยอมรับว่าเป็นวิกฤตแรงสุดเท่าที่ตัวเขาผ่านประสบการณ์ทำธุรกิจมา ทำให้กิจการในเครือต่างต้องปรับตัวและเชื่อมั่นว่าจะสามารถกลับมาดีเหมือนเดิมในวันหนึ่ง เพื่อยังไปต่อได้ เช่น เริ่มลดเงินเดือนพนักงานตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ Willem มองว่าผลจากสถานการณ์ที่ทำให้กิจการต้องหยุดลงชั่วคราวเพราะนักท่องเที่ยวหายไปก็มีด้านบวก ตรงที่ทำให้บริษัทได้มีเวลากลับมาทบทวนจุดเด่น/จุดด้อยที่ต้องปรับปรุง เพื่อจะได้ตัดสินใจถูกว่าควรลงทุนส่งเสริมจุดเด่นในด้านไหน และแก้ไขจุดด้อยด้านไหน เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมขยายธุรกิจหลัง Covid-19 คลี่คลายลง
“คาดว่าราวเดือนตุลาคมปีหน้าธุรกิจท่องเที่ยวน่าจะกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน” Willem Niemeijer กล่าวในตอนท้าย