เสพงานศิลป์ เติมเต็มความสุขให้ชีวิต

ในงาน “นิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 21”

เปิดงานนิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค “เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ” อีกหนึ่งนิทรรศการแห่งปีที่คนรักงานศิลป์ต้องไม่พลาดชม  49 ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่สร้างสรรค์ผ่านมุมมองศิลปินรุ่นใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สะท้อนให้เห็นถึงภาพชีวิต สังคม และความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่เชื่อมโยงเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมนำไปสู่การสร้างความสุขให้แก่มวลมนุษยชาติ จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ ไปจนถึง 28 สิงหาคมนี้

คุณเมธ์วดี นวพันธ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานการประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 21 กล่าวว่า “ศิลปะคือการสร้างสรรค์ความงามที่มีคุณค่าต่อจิตใจมนุษย์ให้มีความสมบูรณ์ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เช่นเดียวกับพานาโซนิคที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างความสุข ความสมบูรณ์ให้กับชีวิตทุกคน  ศิลปินไม่ใช่แค่สร้างความสุข แต่ยังช่วยเหลือสังคมไทยในแง่ของการช่วยสะท้อนภาพของสังคมในแง่มุมต่างๆ ทั้งความจริง ความดี และความงาม อีกทั้งช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบัน พร้อมทำหน้าที่หล่อหลอมสังคมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยให้ดีขึ้น

และด้วยเหตุนี้ พานาโซนิค จึงเกิดแนวความคิดจัดการประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยขึ้น โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2538 จวบจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 21 ปีที่บริษัทฯ ได้จัดกิจกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชาติ สืบสานผ่านผลงานจิตรกรรมอันทรงคุณค่า อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสและส่งเสริมให้ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างเป็นอิสระ มีเวทีแสดงผลงานออกสู่สาธารณชน เพื่อสร้างประโยชน์และคุณค่าต่อวงการศิลปะระดับประเทศ

สำหรับนิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 21 ได้พิจารณาและคัดเลือกผลงานโดยคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ จากผลงานที่มีคุณค่าทางศิลปะ มีทักษะในการสร้างสรรค์อย่างโดดเด่น สามารถถ่ายทอดแนวความคิดและตัวตนของศิลปิน โดยไม่ลอกเลียนแบบผู้อื่น รวมถึงสะท้อนภาพชีวิตและสังคมผ่านผลงานอันเป็นอัตลักษณ์  และเชื่อว่าผลงานที่จัดแสดงจะช่วยกระตุ้นให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้เกิดแรงบรรดาลใจสร้างสรรค์ผลงานมีคุณภาพต่อไปในอนาคต”

ด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร  สุนพงษ์ศรี ประธานคณะกรรมการตัดสินผลงาน กล่าวว่า “สำหรับภาพรวมผลงานปีนี้ ศิลปินรุ่นใหม่ทำออกมาได้ดี เห็นถึงความตั้งใจ มีความพิถีพิถันในการถ่ายทอดและผลิตผลงานออกมาอย่างมีคุณค่า  โดยปีนี้มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 135 ภาพจาก 94 ศิลปิน โดยผลงานที่ได้รับรางวัลและถูกคัดเลือกเข้าร่วมจัดแสดงใน นิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค “เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ” ครั้งที่ 21 จำนวนทั้งหมด 49 ผลงาน ปัจจุบันศิลปินรุ่นใหม่มีฝีมือสูงขึ้น แนวคิดมีความหลากหลายขึ้น และแสดงความเป็นปัจเจกบุคคล นำประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวของตัวเองมาเป็นแรงบันดาลใจในการถ่ายทอดผลงาน

โดยผลงาน   “แถลงข่าว 2” ของนายอานนท์ เลิศพูลผล (บน) อายุ 26 ปี ชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1

“แถลงข่าว 2” ของนายอานนท์ เลิศพูลผล อายุ 26 ปี ชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ถ่ายทอดถึงแนวความคิดและเจตนารมณ์ด้านความเข้าใจในเรื่องความดีความชั่ว จากการที่ได้รับการสั่งสอนและปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์ ช่างแตกต่างไปจากที่ได้รู้ได้เห็นเมื่อเติบโตขึ้น สะท้อนถึงความรู้สึกถูกผิดในเรื่องของกฎหมายและศีลธรรม ให้ประจักษ์ในงานจิตรกรรมชิ้นนี้ ศิลปินได้สร้างสรรค์งานออกมาเป็นภาพของทางเจ้าหน้าที่นำผู้ต้องหามาแสดงเพื่อแถลงข่าวของการจับกุม เป็นภาพที่เราได้เห็นจนชาชิน โดยเชื่อว่าผู้ต้องหาเหล่านั้นคือผู้ทำชั่ว ผิดกฎหมาย แต่บางครั้งเราไม่อาจรู้ได้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นจริงหรือเป็นภาพลวง ศิลปินมีวิธีการจัดภาพ นำเสนอเทคนิคกลวิธี มาแสดงได้อย่างทันสมัยตามความนิยมของศิลปะร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจ และสะเทือนอารมณ์”

 

ส่วนรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 2 มี 2 รางวัล ได้แก่ ผลงาน “Decommissioned No.4” โดย นายชัยชนะ          ลือตระกูล อายุ 28 ปี ใช้เทคนิคสีอะคริลิคถ่ายทอดให้เห็นภาพทำนายในอนาคต กับเหล่าเศษซากสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกส่งออกไปนอกโลกจำนวนมหาศาล สุดท้ายกลายเป็นขยะถูกทิ้งกระจัดกระจายเต็มทั่วทั้งชั้นบรรยากาศ และผลงาน “ความงามในความผูกพัน” โดย นางสาวณัฐกานต์ เจริญเชาว์ อายุ 24 ปี  ใช้เทคนิคสีอะคริลิคบนเฟรมผ้าใบ ที่สะท้อนถึงสุนทรีภาพแห่งความสุขและความรักสายสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ในสังคมไทย

และรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 3 มี 3 รางวัล ได้แก่ ผลงาน “วัตถุในความสัมพันธ์ 2” โดย นายปัญญาวิศิษฐ์  สุริสุข อายุ 22 ปี ใช้เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ถ่ายทอดออกมาจากแรงบันดาลใจจากเครื่องมือประกอบอาชีพของครอบครัว บนพื้นฐานอาชีพที่ไม่มั่นคงนัก ในรูปแบบที่เป็นกึ่งนามธรรมในชีวิต ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ต่อมาคือผลงาน “Cyber Bullying” โดย นายวฤทธิ ไพศาลจิรศักดิ์ อายุ 35 ปี ใช้เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ที่สะท้อนแนวคิดในสังคมไทยเรื่องการ Bully ด้วยการล้อเลียน ให้ร้าย ต่อว่าด้วยคำพูดเกลียดชังกันในโลกโซเซียล ได้กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว โดยที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำร้ายคนอื่นอยู่ และผลงาน “ใครงามฤกษ์ในปฐพี” โดย นายณัฐวุฒิ แต่งวัฒนไพบูลย์ อายุ 35  ปี  ใช้เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพสื่อออกมาให้บุคลิกภายนอกสำคัญต่อการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน การลุ่มหลงเสพติดการศัลยกรรม ทำให้มนุษย์ยึดติดอยู่กับบ่วงพิมพ์นิยมแห่งความงาม

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมงานแสดงนิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 21 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.02 281 2224

###

%d bloggers like this: