มธ. โชว์นวัตกรรม “เสื้อไม่อาย”

ฮือฮา หญิงไทยยุคใหม่ไม่อายอีกต่อไป !
นักวิจัย มธ. โชว์นวัตกรรม “เสื้อไม่อาย” ส่งเสริมการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม  

          กรุงเทพฯ 6 มีนาคม 2560 – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยคณะพยาบาลศาสตร์ คิดค้น “เสื้อไม่อาย” นวัตกรรมช่วยลดปัญหาความไม่มั่นใจในเรือนร่างของหญิงไทย  ในขณะเข้ารับการตรวจรังสีเต้านม (Mammogram) โดยนวัตกรรมเสื้อดังกล่าวจะเอื้อให้เจ้าหน้าที่รังสีสามารถจัดตำแหน่งเต้านมของผู้เข้ารับการตรวจทีละข้างได้  โดยที่ผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องเผยผิวหนังและร่างกายส่วนอื่นๆ อาทิ แผ่นหลัง  หน้าท้อง รักแร้ ในขณะที่การตรวจรังสีเต้านมโดยทั่วไป ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องถอดเสื้อเปลือยร่างกายส่วนบนทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้หญิงไทยวัย 35 – 40 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจแมมโมแกรมกันมากขึ้น โดยมุ่งตรวจหาความผิดปกติของเต้านมอันเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคมะเร็งก่อนที่จะสาย

สำหรับสถานพยาบาล   ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชน ตลอดจนประชาชนที่สนใจนวัตกรรมนวัตกรรม “เสื้อไม่อาย”สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) โทรศัพท์ 02-986 9213 ต่อ7316-8 หรือติดต่องานสื่อสารองค์กร มธ. ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเข้าไปที่ www.pr.tu.ac.th

ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิณพิชญ์ชา  มะมม  อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าสถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า ผู้หญิงไทยที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมรายใหม่มีมากราว 8,000 คนต่อปี และช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ขณะเดียวกันกลับพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 18 ปี  ดังนั้น ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง อาทิ คนที่มีประวัติโรคมะเร็งเต้านมในครอบครัว และ คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับรังสี ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตัวเอง  เพื่อค้นหาความผิดปกติของเนื้อเยื่ออันเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งเต้านม ซึ่งในกรณีที่ พบความผิดปกติดังกล่าว จึงควรเข้ารับการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) เพื่อค้นหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่แม่นย้ำมากขึ้น  ซึ่งการตรวจแมมโมแกรมนั้น ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องถอดเสื้อพร้อมเปิดเผยร่างกายส่วนบน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการจัดตำแหน่งเต้านมให้เหมาะสมกับการฉายรังสี  โดยต้องตรวจทีละข้างและใช้เวลารวมทั้งหมดประมาณ 30 – 60 นาที   ซึ่งการเปลือยร่างกายส่วนบนเป็นเวลานานต่อหน้าบุคคลที่ไม่รู้จักนั้น อาจทำให้สตรีที่เข้ารับการตรวจรู้สึกอาย ด้วยขาดความมั่นใจในผิวหนังหรือเรือนร่างของตนเอง ตลอดจนอาจส่งผลให้ไม่อยากกลับมาตรวจซ้ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะพยาบาลศาสตร์ จึงได้พัฒนานวัตกรรม “เสื้อไม่อาย” ขึ้น เพื่อลดปัญหาความไม่มั่นใจในเรือนร่าง และสนับสนุนให้หญิงไทยเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมกันมากขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิณพิชญ์ชา กล่าวต่อว่า นวัตกรรม “เสื้อไม่อาย” เป็นเสื้อสำหรับใส่ตรวจรังสีเต้านมที่จะเปิดเผยร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจ เฉพาะบริเวณเต้านมที่จะต้องเอ็กซ์เรย์เท่านั้น โดยนวัตกรรมเสื้อดังกล่าวถูกตัดเย็บให้มีช่องสี่เหลี่ยมขนาด 15 x 15เซนติเมตร จำนวน 2 ช่อง ครอบบริเวณเต้านมของผู้เข้ารับการตรวจ โดยในแต่ละช่องจะมีผ้าคลุมเย็บกระดุมติดอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้ผู้เข้ารับการตรวจสามารถปลดกระดุมให้เจ้าหน้าที่รังสีจัดตำแหน่งเต้านมทีละข้างได้ โดยไม่ต้องเผยผิวหนังและร่างกายส่วนอื่นๆ อาทิ แผ่นหลัง หน้าท้อง รักแร้ อันจะเป็นการช่วยลดปัญหาความไม่มั่นใจในเรือนร่างได้ นอกจากนี้นวัตกรรมดังกล่าว ยังได้รับการดัดแปลงมาจากเสื้อยืดแบบผ้าคอตตอน ซึ่งจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้สวมใส่ในขณะเข้าเอ็กซ์เรย์รังสี อีกทั้งยังมีหลากหลายขนาด เพื่อรองรับการสรีระของผู้เข้ารับการตรวจที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงานสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปีพ.ศ. 2557 พบว่า ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้ชายเกือบ 100 เท่า เนื่องมาจากสัดส่วนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เป็นเพศหญิงอยู่ที่ 99.9 % ในขณะที่สัดส่วนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เป็นเพศชายมีเพียง 0.1 %เท่านั้น นอกจากนี้มีรายงานว่า สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นปีละ 20.5 %ต่อแสนประชากร และเขตกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 24.3% ต่อแสนประชากร ในปี 2560 คาดว่าจะมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 20,000 ราย ในพื้นที่ภาคกลางมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นมากที่สุด 8.5 % ต่อปี  โดยผู้ป่วยระยะที่ 2  เข้ารับการตรวจคัดกรองมากที่สุด คิดเป็น 40.95% รองมาคือผู้ป่วยระยะที่ 3 คิดเป็น 25.65 % ขณะที่ผู้ป่วยระยะที่ 1 กลับเข้ารับการตรวจน้อยที่สุด คิดเป็น 14.41% โดยหากผู้ป่วยค้นพบโรคมะเร็งเต้านมตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก ก็จะทำให้ขั้นตอนการรักษาของแพทย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงมีโอกาสหายขาดจากโรคดังกล่าวได้ไวเช่นกัน ดังนั้นหญิงไทยอายุ 35 – 40 ปี ขึ้นไปจึงควรเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมปีละครั้ง เพื่อป้องกันและไม่ประมาทกับโรคที่เราเฝ้าระวังได้ รวมถึงคาดว่านวัตกรรมดังกล่าวจะสนับสนุนให้หญิงไทยเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมกันมากขึ้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิณพิชญ์ชา กล่าวสรุป

สำหรับสถานพยาบาล   ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชน ตลอดจนประชาชนที่สนใจนวัตกรรมนวัตกรรม “เสื้อไม่อาย”สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) โทรศัพท์ 02-986-9213 ต่อ7316-8 หรือติดต่องานสื่อสารองค์กร มธ. ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเข้าไปที่ www.pr.tu.ac.th

%d bloggers like this: