องค์กรชั้นนำผนึกกำลังปลุกกระแสรักษ์โลก

องค์กรชั้นนำผนึกกำลังปลุกกระแสรักษ์โลก เปลี่ยนขยะในทะเลสู่เสื้อผ้าแฟชั่น ด้วยโครงการ UPCYCLING THE OCEANS, THAILAND

ปัญหาจากขยะนับวันจะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากร แต่ประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญและทั่วโลกให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ คือ ปัญหาขยะและมลพิษทางทะเล โดยขยะส่วนใหญ่เป็นขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก ก้นบุหรี่ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเล การท่องเที่ยว การประมง การเดินเรือ รวมถึงภาพลักษณ์ของทะเลไทย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากทั่วโลกในทุกๆ ปี

วิกฤติขยะในทะเลนี้นำมาสู่การแก้ปัญหาร่วมกันของภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจัง ภายใต้ โครงการ UPCYCLING THE OCEANS, THAILAND โดยความร่วมมือของ 3 องค์กรหลัก บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์ จับมือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ มูลนิธิอีโคอัลฟ์ จากสเปน ผนึกกำลังจัดการขยะในทะเลและนำขยะมาแปรรูปและพัฒนาเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นระดับโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการจัดการปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งและหมู่เกาะในรูปแบบที่สร้างสรรค์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ฝั่งทะเลตะวันออก (เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง) ฝั่งทะเลอ่าวไทย (เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี) และ ฝั่งทะเลอันดามัน (จังหวัดภูเก็ต) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ

PTTGC CEOนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี กล่าวว่า “โครงการนี้มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างคุ้มค่าและยังช่วยลดมลพิษในทะเลและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์และสวยงาม โดยจะรณรงค์การเก็บขยะขวดพลาสติกใสหรือขวด PET และขยะจากพลาสติกโพลิเอทิลีน (PE) ในทะเลและพื้นที่ชายฝั่งและนำมาใช้ซ้ำโดยการแปรรูปในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าด้วยนวัตกรรมการผลิตเป็นเส้นใยสังเคราะห์และพัฒนาและออกแบบเป็นเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นที่มีมูลค่าที่สูงขึ้นตามแนวคิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy)”

unnamed (1)นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า “เป้าหมายของความร่วมมือในการดำเนินโครงการ ไม่เพียงการลดปริมาณขยะในทะเลและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ไม่สมดุลแล้ว สิ่งสำคัญคือ การมีส่วนร่วมและความร่วมแรงร่วมใจจากพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งทั้งภาคเอกชนและประชาชนจะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศให้ยั่งยืน พร้อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในฐานะแหล่งท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม”

นายฮาเวียร์ โกเยนิเช่ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิอีโคอัลฟ์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและดำเนินโครงการ UPCYCLING THE OCEANS ที่ประเทศสเปน โดยร่วมกับสมาคมเรือประมงนำขยะพลาสติกจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าภายใต้แบรนด์อีโคอัลฟ์ (ECOALF) กล่าวว่า “เพราะโลกของเรามีเพียงใบเดียว ไม่มีโลกใบที่สอง เราจึงต้องรักษาโลกใบนี้ไว้ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยตัดสินใจดำเนินโครงการนี้ ซึ่งทั้งประเทศสเปนและประเทศไทยต่างก็มีทะเลและชายหาดที่สวยงามเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว นอกจากแนวคิดของการใช้วัสดุรีไซเคิลที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม งานดีไซน์ก็มีความสำคัญสำหรับกระแสแฟชั่นปัจจุบัน ที่จะต้องมีความทันสมัย ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ด้วย ซึ่งปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และต้องการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ จึงให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์รักษ์โลก”

UTO4ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิชาการทางทะเล กล่าวว่า “ปัญหาขยะในทะเลและมหาสมุทรไม่ใช่ปัญหาระดับประเทศเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก การแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มลงมือทำในวันนี้ โครงการนี้ใช้นวัตกรรมการผลิตสินค้าแฟชั่นที่แปรรูปจากพลาสติกใส โดยขวดน้ำพลาสติก 70 ขวดสามารถแปรรูปเป็นเนื้อผ้าความยาว 1 เมตร นับเป็นการช่วยลดขยะในทะเลและนำกลับมาใช้อย่างคุ้มค่า และนี่คือก้าวแรกอันสำคัญของประเทศไทยที่เราจะร่วมกันคิดทำสิ่งใหม่ๆ จากการประสานความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะช่วยขับเคลื่อน ปลูกจิตสำนึกให้เกิดการลดปริมาณขยะในทะเลไทยอย่างยั่งยืนต่อไป”

น้ำตาล – ชลิตา ส่วนเสน่ห์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2559 ที่มาร่วมเดินมินิแฟชั่นโชว์ในงานเปิดตัวโครงการครั้งนี้ เผยว่า “ขยะทำให้น้ำทะเลไม่ใสสะอาด คนไปเที่ยวเห็นแล้วก็ไม่อยากลงเล่น ถ้าเราช่วยกันดูแลรักษา ไม่ทิ้งขยะลงทะเล น้ำทะเลก็จะใสและสวยงาม ทำให้แหล่งท่องเที่ยวทะเลมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ซึ่งโครงการนี้ช่วยทำให้เราตระหนักถึงปัญหาขยะในทะเล อีกทั้งมีสัตว์ทะเลที่ตายเพราะกินขยะเข้าไป สะท้อนถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศจากการทิ้งขยะโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ แม้จะต้องใช้เวลานานในการจัดการปัญหาขยะให้หมดไป แต่ถ้าเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาปัญหาที่มีอยู่ลงได้ จึงยินดีที่เห็นโครงการนี้เดินหน้าอย่างจริงจัง และจะเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนร่วมมือกัน”

“เมื่อพูดถึงแฟชั่นรักษ์โลก ตาลมีความรู้สึกประทับใจที่โครงการนี้มีนวัตกรรมสามารถนำวัสดุรีไซเคิลจากขยะพลาสติกมาผลิตเป็นเสื้อผ้าได้ สำหรับเสื้อแจ็กเก็ตจากอีโคอัลฟ์ที่ได้ลองใส่เดินแฟชั่นนั้น เนื้อผ้าดี นุ่ม ใส่สบาย น่าจะช่วยจุดประกายสำหรับดีไซนเนอร์ของไทยนำไอเดียมาต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าแฟชั่นอื่นๆ ที่เหมาะกับประเทศไทยได้” น้ำตาลกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมมือกันพัฒนาฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวของไทยกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อดูแลสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างยั่งยืน อีกไม่นานเกินรอ ชาวไทยก็จะได้ยลโฉมสินค้าแฟชั่นแปรรูปจากขยะพลาสติกที่ช่วยแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมและสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง

%d bloggers like this: